4 โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์

ทันตแพทย์,พระราชดำริ,หน่วยแพทย์พระราชทาน,ศัลยแพทย์,โรคภูมิแพ้

70 ปี แห่งการครองราชสมบัติของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงมีโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ เพื่อพสกนิกรมาตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ อันนำมาซึ่งประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยและแผ่นดินไทย ดังพระราชปณิธานปฐมบรมราชโองการ

สารบัญ

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

โครงการกว่า 4,000 โครงการ ที่ทรงทำเพื่อประชาชนมีหลากหลายด้านและหนึ่งในด้านต่างๆ นั้น คือ โครงการพระราชดำริทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญทางด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน ดังมีพระราชดำรัสว่า

“…ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือพลเมืองนั่นเอง…” 

ทันตแพทย์,พระราชดำริ,หน่วยแพทย์พระราชทาน,ศัลยแพทย์,โรคภูมิแพ้

4 โครงการ ที่เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อประชาชน

1.โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน

โครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในโครงการชาวเขา ได้ทอดพระเนตรเห็นว่ามีราษฏรที่มารอรับเสด็จนั้นเจ็บป่วยเป็นอันมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์ที่ตามเสด็จฯ ตรวจและรักษาคนไข้ ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา จึงเป็นที่มาของโครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน ซึ่งนอกจากจะทรงให้คณะแพทย์ตรวจรักษาราษฏรแล้ว ยังทรงให้มีการอบรมหมอหมู่บ้าน ซึ่งจะช่วยให้ราษฎรมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน รู้จักวิธีรักษาพยาบาลแบบปัจจุบัน และรู้จักวิธีติดต่อกับหน่วยราชการ ในกรณีที่เกินขีดความสามารถด้วยตนเองได้ อันเป็นการช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวอีกด้วย ซึ่งโครงการหน่วยแพทย์พระราชทานนี้ เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล ซึ่งส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจน และขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง ทำให้ราษฎรมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยไม่ต้องเสียทุนทรัพย์ใดๆ

ทันตแพทย์,พระราชดำริ,หน่วยแพทย์พระราชทาน,ศัลยแพทย์,โรคภูมิแพ้

2.หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน

ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชปรารภว่า

“เวลาพระองค์มีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษาแล้วเวลาราษฎรที่อยู่ห่างไกล จะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือเปล่า”

ต่อมาทรงทราบว่าทันตแพทย์นั้นมีน้อยและมีอยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น บางจังหวัดก็ไม่มี พระองค์จึงทรงรับสั่งว่า

“การที่จะให้ราษฎรที่ยากจนที่มีปัญหาเรื่องฟัน หยุดการทำนาทำไร่ เดินทางไปหาแพทย์นั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงกันข้าม หากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง”

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสแก่ ทันตแพทย์ สี สิริสิงห์ ทันตแพทย์ประจำพระองค์ว่า

“ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่นักเรียนและประชาชน ที่อยู่ในท้องถิ่นกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตามความจำเป็น โดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปโดยรถยนต์และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้าน ที่อยู่ห่างไกล ชนบท”

หน่วยทันตกรรมพระราชทานจึงถือก่อกำเนิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดซื้อรถยนต์ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทำฟัน มีทันตแพทย์อาสาออกปฏิบัติงานโดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2512 โดยมี ทันตแพทย์ สี สิริสิงห์ เป็นหัวหน้าทีม เพื่อส่งทันตแพทย์อาสาสมัครออกช่วยเหลือ บำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันแก่เด็ก นักเรียนและประชาชน ที่อยู่ในท้องที่ทุรกันดาร โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ และได้รับความร่วมมือจากทันตแพทย์โรงพยาบาลต่างๆ ในการออกปฏิบัติการภาคสนาม

ทันตแพทย์,พระราชดำริ,หน่วยแพทย์พระราชทาน,ศัลยแพทย์,โรคภูมิแพ้

3.โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

เป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 หลังจากที่เปิดโครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ใน พ.ศ. 2517 แพทย์ที่อาสาสมัครซึ่งเป็นแพทย์อาวุโสและมีประสบการณ์มาก เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็น ที่จะต้องมีศัลยแพทย์อาสาไปช่วยปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลประจำจังหวัดสกลนคร ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐาน ประทับที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จึงได้มีการศึกษาหาข้อมูล และความต้องการของโรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ ในด้านศัลยกรรม และรวบรวมจัดทำทำเนียบศัลยแพทย์อาสา แล้วก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์ขึ้น ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับวิทยาลัยศัลยแพทย์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเปลี่ยนชื่อเป็น ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ในเวลาต่อมา

ทันตแพทย์,พระราชดำริ,หน่วยแพทย์พระราชทาน,ศัลยแพทย์,โรคภูมิแพ้

4.โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน

เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2522 เนื่องจากมีพสกนิกรเป็นจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคหู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้ ซึ่งจำเป็นต้องรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาเหล่านี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดหน่วยแพทย์อาสาสมัครในโรคดังกล่าว ผลักดันออกไปปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัด ที่เสด็จแปรพระราชฐาน โดยอาศัยแพทย์หู คอ จมูกอาสาสมัครจาก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลประจำจังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลประจำจังหวัดนครพนม ผลัดเปลี่ยนกันมาปฏิบัติราชการชุดละ 2 สัปดาห์ เริ่มที่จังหวัดนราธิวาสก่อน ต่อมาจึงขยายการปฏิบัติงานไปที่จังหวัดสกนนครและที่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่

พระมหากรุณาธิคุณทางด้านการแพทย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพระองค์ทรงนำพาพสกนิกรไปสู่ความมีสุขภาพที่ดี และทรงไม่ทอดทิ้งพสกนิกร

“…ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแล บำบัดทุกข์ให้แก่เด็กนักเรียนและประชาชน ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามความจำเป็น โดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปบนรถยนต์ และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชนบท…”

ทันตแพทย์,พระราชดำริ,หน่วยแพทย์พระราชทาน,ศัลยแพทย์,โรคภูมิแพ้

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาแพทย์ศาสตร์ตอนหนึ่งว่า

“…จึงใคร่ขอร้องให้ทุกๆ คนตั้งใจ และพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ผลสมบูรณ์จริงๆ อย่าปล่อยให้กำลังของชาติต้องเสื่อมถอยลง เพราะประชาชนเสียสุขภาพอนามัย…”

 

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าอย่างหาที่สุดไม่ได้ ในพระเมตตาของพระองค์ ในความตั้งพระทัยมั่นในการขจัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกร อีกทั้งเป็นการสืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย และสมเด็จพระบรมราชชนนี พระมารดาของการแพทย์ชนบท ที่ทรงมีหน่วยแพทย์ พอสว. เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรให้ท้องถิ่นทุรกันดารด้วยเช่นกัน