แบบไหน? เข้าข่ายวัยทอง

 

วัยทอง
นายแพทย์โอม สุดชุมแพ MD, CNW เวชศาสตร์ชะลอวัย

นายแพทย์โอม สุดชุมแพ ได้แนะนำข้อมูลไว้ว่า ผู้หญิงและผู้ชายเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน ปัญหาที่พบได้ส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุของการพร่องฮอร์โมนและภาวะเข้าสู่วัยทอง ซึ่งผู้หญิงวัยทองจะมีช่วงอายุระหว่าง 45-59 ปี อายุที่มากขึ้นก็ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเพศลดน้อยลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยอาจจะมีความผิดปกติในหลายระบบของร่างกาย ทั้งแบบค่อยเป็นค่อยไป และแบบเฉียบพลันทันที ทั้งนี้อาการวัยทองในแต่ละบุคคลก็จะมีความรุนแรงต่างกัน

ในผู้หญิงตามนิยามทางการแพทย์ ระบุไว้ว่า ผู้หญิงที่มีประจำเดือนหรือรอบเดือนขาดหายไปหรือไม่มาติดต่อกัน 12 รอบเดือน ถือว่าบุคคลนั้นเข้าสู่ภาวะวัยทอง มีโอกาสน้อยที่จะกลับมามีประจำเดือนได้อีก การเปลี่ยนแปลงของรอบเดือนในผู้หญิงจะส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนมีอิทธิพลต่อระบบหลายๆ อย่างในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นสมอง กระดูกและผิวหนัง

เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง จึงส่งผลทำให้มีอาการต่างๆ ตามมา ที่หลายๆ คนเรียกว่า อาการวัยทอง ซึ่งโดยแท้จริงแล้วสามารถแสดงอาการได้ทั้งที่มีประจำเดือนอยู่และหมดประจำเดือนไปแล้ว โดยทั่วไปอาการวัยทองจะพบมากในช่วงอายุ 45-59 ปี และใช้ระยะเวลาแสดงอาการรุนแรงโดยเฉลี่ย 1-4 ปี แต่บางรายอาจใช้ระยะเวลาแสดงอาการรุงแรงเป็น 10 ปีขึ้นไปก็มี

วัยทอง

ฮอร์โมนเอสโตรเจนถูกสร้างจากรังไข่ หลั่งเข้าสู่กระแสเลือด แล้วไปควบคุมอวัยวะเป้าหมายต่างๆ ให้ทำงานเป็นปกติ โดยผ่านตัวรับเอสโตรเจนที่มีอยู่ในอวัยวะเป้าหมายต่างๆ เช่น สมอง ผิวหนัง ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ฯลฯ

สารบัญ

อาการวัยทองในผู้หญิง

ร้อนหรือหนาววูบวาบ

เหตุผลของปัญหาร้อนหรือหนาววูบวาบ อาจยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เมื่อใดก็ตามที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว อาการร้อนหรือหนาววูบวาบก็จะลดน้อยลง และกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

เหงื่อออกมากผิดปกติ

ปัญหาเหงื่อออกมากผิดปกติ เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงอย่างฉับพลัน เมื่อใดก็ตามทีเมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว อาการเหงื่อออกมากก็จะลดน้อยลง และกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

นอนหลับยาก นอนไม่ค่อยหลับ

บางคนมีอาการนอนไม่หลับทั้งคืน บ้างก็นอนหลับยาก หรือบางคนก็มีอาการตื่นกลางดึกบ่อยๆ รวมไปถึงตื่นเช้ากว่าปกติ

อารมณ์หงุดหงิด

อารมณ์หงุดหงิดเกิดจากระดับฮอร์โมนเพศที่ผิดปกติ หลายคนจึงมีอารมณ์แปรปรวนได้ง่าย ซึ่งอาจจะส่งผลให้ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างแย่ลงไปด้วย

อาการเวียนศีรษะ

ผู้ที่มีอาการวัยทองบางคนจะมีอาการเวียนศีรษะ ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า ในผู้ที่มีอาการวัยทอง จะมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วยอยู่แล้ว เมื่อร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อน จึงส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะ

อาการปวดศีรษะหรือเวียนศีรษะ มักจะเกิดขึ้นบ่อยในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนเช่นกัน ซึ่งบางคนอาจมีอาการคล้ายจะเป็นไข้ร่วมด้วย

วัยทอง

ผิวแห้ง มีฝ้า กระ

อาการผิวแห้งแห้งกร้าน จะเป็นอาการวัยทองที่ค่อยๆ มีพัฒนาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเหตุผลที่ผิวแห้งกร้าน เป็น ฝ้า กระ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนที่มีอิทธิพลต่อการสร้างคอลลาเจนใต้ผิว เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ก็จะส่งผลให้คอลลาเจนใต้ผิวลดลงเช่นกัน ก่อให้เกิดผิวบาง เมื่อผิวบางก็จะมีโอกาสที่จะสูญเสียความชื้นในอากาศได้ง่าย ทำให้ผิวแห้งกร้านและเป็นขุยในเวลาต่อมา เมื่อเวลาล่วงเลยนานไป ยิ่งร่างกายมีกระบวนการสร้างเซลล์ผิวที่ผิดปกติไปจากเดิมไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ปริมาณกระเพิ่มมากขึ้นไปตามเวลา

เล็บเปราะบาง

มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนมีอิทธิพลต่อความชุ่มชื้นของผิว เมื่อผิวสูญเสียความชุ่มชื้นไป ก็จะส่งผลให้เล็บเปราะหรือฉีกขาดง่าย

ผมร่วงง่ายผิดปกติ

อาการผมร่วงเป็นอาการหนึ่งที่หลายๆ คนไม่เคยรู้มาก่อนเลยในวัยทอง ผู้หญิงจะมีผมร่วงในหนึ่งวันเฉลี่ย 100-120 เส้น โดยสังเกตเห็นจากเวลาหวีหรือสระผม ซึ่งคอลาเจนใต้ผิวจะเป็นที่ยึดเกาะของรากผม เมื่อคอลาเจนลดลงจนชั้นของคอลาเจนบาง รากผมจึงมีพื้นที่ยึดเกาะน้อย ไม่แข็งแรง ส่งผลให้ผมร่วงง่ายผิดปกติ ซึ่งกลไกที่เป็นต้นเหตุสำคัญที่สุด ที่ทำให้คอลาเจนสร้างลดลง ก็เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สร้างจากรังไข่ลดลงนั้นเอง

ช่องคลอดแห้ง ความต้องการทางเพศชลดลง

อาการช่องคลอดแห้งและความต้องการทางเพศลดลง เกิดจากน้ำหล่อลื่นในช่องคลอดลดน้อยลงไปอย่างมาก ทำให้ขณะมีเพศสัมพันธ์จะระคายเคืองและแสบภายในช่องคลอด อารมณ์ก็จะลดน้อยลง

ต้นเหตุที่ช่องคลอดแห้ง เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนไปมีอิทธิพลต่อการทำงานของต่อมบาร์โธลิน (Bartholin gland) ซึ่งต่อมดังกล่าวมีหน้าที่ในการสร้างสารคัดหลั่ง ที่จะช่วยลดการระคายเคืองภายในช่องคลอด เมื่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สร้างจากรังไข่ลดลง ส่งผลให้ต่อมบาร์โธลินสร้างสารคัดหลั่งลดลง จึงทำให้ช่องคลอดแห้งตามมา

ส่วนของความต้องการทางเพศที่ลดลง สาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น การนอนไม่หลับ การหลับได้ไม่ลึก ทำให้ร่างกายเกิดความเหนื่อยล้า เมื่อมีความเหนื่อยล้ามากขึ้น ความต้องการทางเพศก็จะลดลง

ประจำเดือนมาผิดปกติ

อาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือผิดปกติ จากเดิมที่เคยเป็นจะมีอาการที่เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ อย่างแรก คือ การที่ยังคงมีรอบประจำเดือนมาตรง 28 วันตามปกติ แต่ปริมาณของประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ อย่างที่สอง คือ การมาของรอบประจำเดือนมีการเลื่อนเข้าหรือออกมาไม่ตรงรอบ 28 วัน เช่น จาก 28 วันครั้ง ก็เปลี่ยนเป็น 20 วันครั้งเป็นต้น หรือจาก รอบ 28 วันครั้ง ก็เปลี่ยนเป็น 35 วันครั้ง เป็นต้น หรือมีการเลื่อนเข้าออกของรอบประจำเดือนแบบสลับกันก็ได้ บางเดือนอาจมีการเลื่อนเข้า บางเดือนอาจมีการเลื่อนออก เป็นต้น

เมื่ออายุมากขึ้น ไข่ที่มีมาแต่กำเนิดก็อาจมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม ส่งผลให้กระบวนการพัฒนาการของไข่จนกระทั้งไข่ตกเปลี่ยนไป บางเดือนก็จะตกช้า บางเดือนก็จะตกเร็วหรือไม่ตกเลย ก็จะทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติไปจากเดิมนั้นเอง

อาการหลงลืมง่าย

อาการนี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างสารสื่อประสาทในสมอง สารสื่อประสาทเหล่านี้มีอิทธิพลต่อกลไกการเรียนรู้และการจดจำ ซึ่งเมื่อสารสื่อประสาทเหล่านี้ลดหายไป กลไกการเรียนรู้และการจดจำก็จะลดประสิทธิภาพลง ทำให้เกิดอาการหลงลืม สำหรับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ขาดหายไปนี้ ยังไปมีผลโดยตรงต่อการบาดเจ็บของเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาทถูกทำลายไป เมื่อระยะเวลาของการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนถูกดำเนินการยืดยาว จะส่งผลให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้สูงตามนั้น

โรคกระดูกพรุน

สาเหตุของโรคกระดูกพรุนมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่รับประทาน ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ แม้กระทั่งการอยู่แต่ในที่ร่มของผู้สูงอายุ จึงทำให้ขาดวิตามินดี แต่ปัจจัยที่สำคัญที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุที่เป็นสตรีวัยทอง ก็คือ การที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สร้างจากรังไข่มีปริมาณลดลง ซึ่งจะไปมีผลโดยตรงต่อกลไกการเพิ่มเนื้อมวลกระดูก ส่งผลให้กลไกการเพิ่มเนื้อมวลกระดูกหยุดชะงัก จึงเป็นที่มาของโรคกระดูกพรุน นอกจากนั้นแล้วยังจะไปมีผลต่อการทำงานของฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (PTH) ที่ควบคุมการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ และยับยั้งการสลายตัวของแคลเซียมออกจากมวลกระดูก

ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดในข้อและกระดูก

เนื่องจากฮอร์โมนเพศควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ โดยเพศชายจะมีลักษณะกล้ามเนื้อใหญ่ เพศหญิงจะมีลักษณะกล้ามเนื้อเล็ก ดังนั้นเมื่อฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนน้อยลง ก็จะส่งผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อ เมื่อกล้ามเนื้อมีการหดตัว ก็จะส่งผลให้มีการเกร็งของกล้ามเนื้อ เมื่อยล้าตามมา

สำหรับอาการปวดในข้อและกระดูก สาเหตุลึกๆ อาจจะยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด แต่สำหรับข้อมูลที่มีอยู่ คือ เกิดจากการสลายตัวของกระดูกมากเกินไป ที่เกิดจากการลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างฉับพลัน

อาการเหมือนมีไฟฟ้าช็อตตามร่างกาย

อาการเหมือนมีไฟฟ้าช็อตตามร่างกาย เป็นอาการที่พบเจอได้ในบางคน ลักษณะเหมือนคนโดนไฟฟ้าบ้านช็อต โดยระยะเวลาการช็อตจะกินเวลาไม่นานมากนัก ซึ่งในวันหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้หลายๆ ครั้ง แต่ไม่ได้สร้างอันตรายอะไร เว้นแต่ก่อให้เกิดความรำคาญ แต่จะไปมีผลเสียต่อสุขภาพจิต

ปัสสาวะบ่อย แสบและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

โดยปกติของคนเราจะปัสสาวะ 4-6 ครั้งในช่วงกลางวัน และ 0-1 ครั้งในช่วงกลางคืน ซึ่งในช่วงวัยทองจะพบว่ามีการปัสสาวะบ่อยกว่าค่าในคนปกติ สำหรับคนที่เป็นมากๆ เมื่อไอหรือจามจะทำให้ปัสสาวะเล็ดได้ การปัสสาวะแต่ละครั้ง ในบางรายจะมีอาการแสบขณะปัสสาวะร่วมอยู่ด้วย และมักจะเป็นเกือบทุกคนในผู้หญิงสูงวัย ทำให้การปัสสาวะแต่ละครั้งจะทรมานอย่างมาก สาเหตุก็มาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนไปมีอิทธิพลต่อการสร้างเนื้อเยื่อบุผิว และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันทุกชนิดในร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อบุผิวในช่องคลอดบางลง หูรูดปัสสาวะขาดความยืดหยุ่น จึงเป็นที่มาของการกลั่นปัสสาวะได้ไม่ดี ทำให้ปัสสาวะบ่อยและแสบตามมา

คอเลสเตอรอลสูง ลงพุงง่าย

สาเหตุมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มาจากรังไข่สร้างลดลง การเผาผลาญคอเลสเตอรอลจึงลดลงเช่นกัน เพราะกระบวนการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนจำเป็นต้องใช้คอเลสเตอรอลเป็นสารตั้งต้น อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนไปมีอิทธิพลต่อการสร้างเนื้อเยื่อบุผิวต่างๆ ในร่างกาย เมื่อกลไกการสร้างเนื้อเยื่อบุผิวลดลง การเผาผลาญคอเลสเตอรอลก็ย่อมลดลงตามมาเช่นเดียวกัน เพราะองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์จำเป็นต้องใช้คอเลสเตอรอลเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง

ส่วนการลงพุงง่ายนั้น เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง ไปมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมดุลระหว่างฮอร์โมนเพศชายและฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งจะส่งผลให้ฮอร์โมนเพศชายมีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นต่อมไขมันที่บริเวณหน้าท้องก็จะทำงานมากขึ้น แม้ว่าจะรับประทานอาหารหรือออกกำลังกายเท่าเดิม แต่ไขมันก็จะมีการสะสมได้ง่ายมากขึ้น

อาการเป็นวัยทองในผู้ชาย

สำหรับวัยนี้จะถูกบั่นทอนสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตามอายุที่มากขึ้น และความบกพร่องของฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีอิทธิพลต่อบทบาทในการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน ร้อนวูบวาบและอาการต่างๆ

เพราะฮอร์โมนเป็นตัวกำหนดความเป็นหนุ่มและเป็นสาวในร่างกาย โดยในผู้หญิงฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิต คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่สำหรับผู้ชายฮอร์โมนที่มีผลต่อสมรรถภาพ และความแข็งแรงของร่างกาย คือ ฮอร์โมนที่ชื่อว่า แอนโดรเจน ที่สร้างจากฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งจะมีปริมาณมากที่สุดในช่วงอายุ 20 ปี และจะลดลงอย่างช้าๆ เมื่ออายุมากขึ้นหลัง 40 ปี ซึ่งฮอร์โมนแอนโดรเจนก็จะลดลงเรื่อยๆ และการลดลงของฮอร์โมนนี้เองที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในวัยทอง

ปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงในเพศชายมีความแตกต่างจากในเพศหญิงมาก แพทย์จำนวนไม่น้อยจึงไม่ยอมรับและเรียกผู้ชายกลุ่มนี้ว่า ชายวัยทอง เพราะภาวะพร่องฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในผู้ชายนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ชายทุกคน อีกทั้งยังมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ผิดกับอาการในเพศหญิง ที่การหมดประจำเดือนจะเป็นสัญญาณบอกถึงฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป

จากการศึกษาพบว่าเมื่อผู้ชายอายุมากเกินกว่า 60 ปี ก็อาจมีกลุ่มที่ฮอร์โมนเพศชายลดต่ำลง ร้อยละ 50 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 ยังคงมีฮอร์โมนอยู่ในระดับปกติ อาการของผู้ชายที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศนี้มีความหลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจง อาการเหล่านี้อาจเกิดจากโรคและความผิดปกติอื่นๆ ได้เช่นกัน
วัยทอง

อาการวัยทองของผู้ชายในด้านต่างๆ

อาการทางด้านร่างกาย

จะมีอาการอ่อนเพลีย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เหงื่อออกมาก นอนไม่ค่อยหลับ พลังกำลังลดลง เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัวโดยไม่มีสาเหตุ ไม่กระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อลดขนาดลง ไม่มีแรง

อาการทางด้านจิตใจ

จะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีแรงจูงใจในการทำอะไร เป้าหมายในชีวิตเปลี่ยนไป เศร้า เหงา เครียดและหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย เฉื่อยชา ขี้บ่นและขี้น้อยใจมากขึ้น ไม่อยากไปไหน อยากอยู่คนเดียว นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ตื่นมาไม่สดชื่น ขาดสมาธิในการทำงาน ความจำลดลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น

สุขภาพทางเพศ

สมรรถภาพทางเพศและความต้องการทางเพศลดลง บางคนเกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เพศ เมื่อระดับฮอร์โมนเพศชายลดลง จึงทำให้ไม่เกิดอารมณ์ที่จะมีเพศสัมพันธ์และอวัยวะไม่แข็งตัว

กระดูกและกล้ามเนื้อ

ผลของการขาดฮอร์โมนเพศชายจะทำให้กระดูกบางลง จนเป็นโรคกระดูกพรุนได้ เช่นเดียวกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน นอกจากนี้กล้ามเนื้อจะค่อยๆ ลดขนาดลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง

ฮอร์โมนเพศชายที่สำคัญ ได้แก่ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งผลิตจากลูกอัณฑะ มีบทบาทหลักในการพัฒนาการทางเพศ ทำให้เด็กผู้ชายแสดงลักษณะของเพศชายเมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เช่น มีเสียงห้าว มีหนวด เครา อวัยวะเพศมีการเติบโต โดยอาศัยอิทธิพลจากต่อมใต้สมอง ทำให้มีการผลิตฮอร์โมนตามปกติ นอกจากลูกอัณฑะแล้ว ต่อมหมวกไตยังผลิตฮอร์โมนเพศชายได้อีกประมาณร้อยละ 5 แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่าที่ผลิตจากอัณฑะ จึงมีบทบาทไม่มากนัก

 

การวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมนเพศในเพศชาย การตรวจในห้องปฏิบัติการ

การตรวจเลือดหาฮอร์โมนเพศชายเพียงตัวเดียว ไม่อาจบอกได้ว่ามีฮอร์โมนเพียงพอหรือไม่ ฮอร์โมนที่มีความจำเป็นต้องทราบปริมาณ คือ ฮอร์โมนที่เป็นอิสระไม่ได้จับกับโปรตีน การเจาะเลือดจึงต้องเจาะหาโปรตีนที่จับกับฮอร์โมนด้วย ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามวัย และปริมาณของฮอร์โมนยังมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาของวันด้วย แพทย์จึงมักแนะนำให้ตรวจหาค่าฮอร์โมนในช่วงเช้า หากต้องการค่าที่แน่นอนว่าฮอร์โมนเพียงพอหรือไม่ ก็จะต้องเจาะเลือดพร้อมกับค่าของโปรตีน แล้วนำไปคำนวณร่วมกับค่าอื่นๆ เช่น น้ำหนัก เป็นต้น

ปัจจัยที่ทำให้วัยทองเกิดขึ้นได้เร็วกว่าปกติ

ปัจจัยที่ทำให้อาการวัยทองเกิดได้เร็วกว่าปกติ คือ เรื่องของกรรมพันธุ์ การทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด ความอ้วน การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคตับ ไตวาย

ซึ่งการรักษาอาการของผู้ชายวัยทอง ขึ้นอยู่กับอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล อันดับแรก คือ การปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยในผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้การรักษาทางยาร่วมด้วย คือ การใช้ยาฮอร์โมนเพศชายเสริม มีตั้งแต่ชนิดกิน ชนิดฉีดและชนิดเจลทาผิว ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งก่อนการใช้ยา เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ หากใช้ไม่ถูกต้อง

การรักษา

หากพบว่ามีอาการผิดปกติและฮอร์โมนพร่องจริง จึงจะทำการรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนเสริม ซึ่งสามารถให้ได้ทั้งในรูปแบบรับประทาน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือปิดที่ผิวหนัง ซึ่งแต่ละวิธีจะมีความแตกต่างกัน เรื่องการดูดซึม การเผาผลาญที่ตับ ผู้ป่วยจึงควรจะได้รับฮอร์โมนเสริมภายใต้การควบคุมของแพทย์ที่มีความรู้และติดตามผลด้วย โดยมากเมื่อได้รับฮอร์โมนเสริม จะรู้สึกว่ามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น กระปรี้กระเปร่า ความจำดี กล้ามเนื้อแข็งแรง ความต้องการและสมรรถภาพทางเพศดีขึ้น

การพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติ และตรวจเลือดส่งแลป เพื่อวิเคราะห์ พร้อมตรวจสุขภาพเพิ่มเติมตามอายุ เมื่อผลแลปออก จึงสามารถสรุปผลและวางแผนการรักษาได้

Men’s Health by Apex

ให้คำปรึกษาโดยแพทย์เฉพาะทาง

  • ตรวจภาวะพร่องฮอร์โมน
  • รักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพชาย
  • ปรึกษาอาการแข็งตัวไม่เต็มที่
  • เทคโนโลยี Linear Shockwave Therapy
  • P-SHOT FOR MEN (PRP)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
  • โทร. 088-870-0045
  • โทร. 062-709-6747
  • LINE : @apexmen