ฟันคุด คืออะไร? ทำไมถึงต้องผ่า

สุขภาพในช่องปาก นอกจากจะต้องดูแลในเรื่องของความสะอาด เพื่อป้องกันปัญหาฟันผุหรืออาการปวดฟันแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัญหา ที่ทุกคนนั้นควรคำนึงถึง คือ ฟันคุด สำหรับบางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับฟันคุดมาแล้ว โดยเฉพาะกับคนที่เคยจัดฟัน แต่ยังมีอีกหลายๆ คนที่ไม่ทราบว่าตัวเองนั้นมีฟันคุด จึงอาจจะเกิดความข้องใจว่า ควรทำอย่างไรดี ควรจะไปตรวจสอบและผ่าก่อนดีมั้ย หรือต้องรอให้ปวดก่อน ถึงจะไปผ่าดี

ฟันคุด

ฟันคุดคืออะไร?

ฟันคุด ภาษาอังกฤษเรียกว่า (Impacted Tooth, Wisdom Tooth) เป็นฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจจะโผล่มาบางส่วนหรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร โดยสาเหตุที่ฟันคุดไม่โผล่เหมือนฟันซี่อื่น เพราะว่าฟันคุดขึ้นช้ากว่าฟันซี่อื่นๆ ทำให้ไม่มีช่องว่างเพื่อที่จะโผล่ขึ้นมาได้

โดยฟันซี่ที่พบว่าเป็นฟันคุดบ่อยที่สุด คือ ฟันกรามล่างซี่สุดท้าย ซึ่งอยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกรล่าง ปกติแล้วฟันซี่นี้ควรจะขึ้นในช่วงอายุ 16-25 ปี โดยอาจโผล่ขึ้นมาในลักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอนในแนวราบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันซี่ข้างเคียงเสมอ ทว่าฟันคุดก็สามารถเจอกับฟันซี่อื่นๆ ได้เหมือนกัน เช่น ฟันเขี้ยว (Canine) ฟันกรามน้อย (Premolar) เป็นต้น

ฟันคุด

ฟันคุดมีทุกคนไหม?

ฟันคุดนั้นเป็นฟันซี่หนึ่งใน 32 ซี่ ฉะนั้นหากถามว่าฟันคุดมีกันทุกคนไหม? ตอบได้เลยว่า มี แต่ฟันคุดจะขึ้นหรือฝังอยู่ใต้กระดูกขากรรไกร อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะฟันของแต่ละคน

ฟันคุดไม่ผ่าได้ไหม?

เชื่อว่าหลายคนสงสัยว่า ทำไมเราต้องผ่าฟันคุด? ถึงจะมีฟันคุดแต่ไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ ไม่ได้จัดฟัน จำเป็นต้องผ่าฟันคุดไหม คำตอบคือ ผ่าดีกว่า เพราะถ้าปล่อยฟันคุดให้เกหรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร อาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพฟันตามมาอีกหลายอย่าง ต้องเจอทันตแพทย์บ่อยขึ้นทั้งที่ไม่ควร ที่สำคัญการผ่าฟันคุดออกก่อนที่จะเจอกับอาการปวดฟันคุด เป็นทางเลือกที่เจ็บน้อยกว่า

ฟันคุด

เหตุผลที่ทันตแพทย์อยากให้ผ่าฟันคุด ทั้งที่ยังไม่มีอาการเจ็บปวด

  1. ช่วยป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน

หากมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวด บวมเป็นหนอง อาจจะลุกลามไปใต้คางหรือใต้ลิ้น ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ และหากฟันคู่สบงอกยาวลงมากัดโดนเหงือก จะยิ่งทำให้อาการปวดฟันรุนแรงมาก

  1. ช่วยป้องกันฟันผุ

เนื่องจากซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกัน เป็นส่วนที่ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดฟันผุได้กับฟันทั้งสองซี่นี้

  1. ช่วยป้องกันอาการปวดฟัน

แรงดันจากฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมา จะก่อให้เกิดอาการปวดฟันกรามซี่ที่ 3 หรือในบางคนอาจมีรากฟันคุดที่ยาวจนไปกด หรือเกี่ยวคลองประสาทและเส้นเลือดที่อยู่ในขากรรไกร ก่อให้เกิดอันตรายต่อเส้นประสาทและเส้นเลือดนั้นได้ จึงควรผ่าฟันคุดออกก่อนที่จะเกิดความทรมานดังกล่าว

  1. ช่วยรักษารากฟันและกระดูกฟัน

การผ่าฟันคุดออกตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยป้องกันการละลายตัวของกระดูกรอบรากฟัน รวมทั้งยังช่วยรักษารากฟันข้างเคียงที่ติดอยู่กับฟันคุดด้วย เพราะหากถอนฟันคุดล่าช้าเกินไป แรงดันของฟันคุดที่พยายามจะดันตัวเองขึ้นมา อาจจะส่งผลกระทบกระดูกรอบรากฟันและรากฟันในบริเวณนั้นๆ และส่วนที่ใกล้เคียงถูกทำลายได้

  1. ช่วยป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก

ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไปเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุดอาจจะขยายใหญ่ขึ้น กลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบๆ บริเวณนั้น ซึ่งหากไม่เคยได้รับการตรวจฟัน ไม่เคยทราบตำแหน่งฟันคุด ก็มักจะรู้ตัวอีกทีเมื่อเห็นใบหน้าเอียง หรือขากรรไกรข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้าง

ซึ่งถ้าพบและรีบทำการผ่าตัดออกได้เร็ว ก็จะช่วยลดการสูญเสียอวัยวะขากรรไกร ทั้งยังสามารถรักษารูปหน้าให้เหมือนเดิมได้ แต่ถ้าถุงน้ำหรือเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากๆ ก็อาจต้องตัดขากรรไกรบางส่วนออกไป ทำให้เสียรูปหน้าบริเวณนั้นได้

  1. เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก

เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือแรงกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นอาจจะหักได้ง่าย

  1. ช่วยลดอาการปวดฟันในผู้ที่ต้องใส่ฟันเทียม

ผู้ที่ต้องใส่ฟันเทียม หากไม่ถอนฟันคุดออกก่อน ฟันเทียมด้านท้ายอาจไปกดกระดูกรอบฟัน ส่งผลให้กระดูกส่วนนั้นถูกทำลาย และมีอาการปวดบริเวณด้านท้ายฟันเทียมทุกครั้งที่ต้องใส่ฟันเทียม

  1. วัตถุประสงค์กรณีอื่นๆ

เช่น ในการจัดฟัน อาจต้องถอนฟันกรามบางซี่ออกเสียก่อนในบางราย เพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนฟันซี่อื่นๆ เป็นต้น

ฟันคุด

การเตรียมตัวก่อนผ่าฟันคุด

  • พักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันผ่าฟันคุด ควรนอนให้เต็มอิ่ม
  • รับประทานอาหารให้พออิ่มท้อง อย่ารับประทานน้อยหรือมากจนเกินไป
  • งดดื่มเครื่องดื่มมึนเมาและงดสูบบุหรี่
  • ควรแปรงฟันและทำความสะอาดช่องปากให้พร้อม ก่อนเข้ารับการผ่าฟันคุด
  • ควรทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ปล่อยตัวตามสบาย ไม่เกร็ง เพราะการเกร็งอาจทำให้เกิดอาการขากรรไกรค้างได้
  • หากมีโรคประจำตัว ควรแจ้งทันตแพทย์ให้ทราบก่อนเข้ารับการผ่าฟันคุด

ผ่าฟันคุดที่ไหนดี?

ที่ APEX Dental Smile Studio จะผ่าฟันคุดด้วยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการผ่าฟันคุดในแต่ละเคส โดยขั้นตอนการผ่าฟันคุด ทันตแพทย์จะฉีดยาชาเพื่อระงับความรู้สึก หลังจากนั้นก็จะเปิดเหงือกให้เห็นฟัน และใช้เครื่องกรอตัดฟันออกมา จากนั้นก็จะล้างทำความสะอาดแผลผ่าตัด ก่อนจะทำการเย็บปิดแผล เท่านี้ก็เรียบร้อย สามารถกลับบ้านได้ทันที

ผ่าฟันคุดจะบวมไหม?

หลังจากผ่าฟันคุด อาการที่พบบ่อย คือ จะมีอาการปวดและบวมบริเวณแก้มด้านที่ทำการผ่าตัด แต่หากทานยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะที่ได้รับไป อาการบวมและอาการปวดก็จะบรรเทาลงได้ ภายใน 1-2 วัน แต่ถ้าหลังผ่าตัด 2-3 วันแล้วอาการปวดบวมยังไม่หาย ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์

วิธีดูแลตัวเองหลังผ่าฟันคุด

  1. ทันตแพทย์จะแนะนำให้กัดผ้าก๊อซให้แน่น เป็นเวลา 2 ชั่วโมง หลังการผ่าตัดหรือถอนฟันเป็นอย่างต่ำ
  2. หากเลือดไม่หยุดไหล ควรประคบแก้มด้วยน้ำแข็งในบริเวณที่ทำการผ่าตัดหรือถอนฟัน
  3. วันแรกห้ามใช้น้ำหรือน้ำยาใดๆ บ้วนปาก วันที่สองสามารถใช้น้ำยาบ้วนปากหรือน้ำเกลืออุ่นๆ ได้ บ้วนเบาๆ โดยเฉพาะหลังอาหาร
  4. แปรงฟันทำความสะอาดช่องปากตามปกติ แต่ระมัดระวังอย่าให้โดนแผลบริเวณที่ผ่าตัดหรือถอนฟัน
  5. รับประทานอาหารอ่อนๆ สัก 3-5 วัน หลังการผ่าตัด
  6. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
  7. ห้ามใช้นิ้วหรือไม้จิ้มฟันกดหรือแคะแผล ห้ามดูดแผลเล่น
  8. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ อาหารรสจัด
  9. หากมีอาการบวมผิดปกติ ควรกลับมาพบทันตแพทย์โดยเร็ว
  10. หลังจากผ่าตัด 7 วัน แพทย์จะทำการนัดเพื่อตัดไหมเย็บแผล

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

APEX Dental Smile Studio

  • สาขาเพลินจิต โทร. 062-662-3000 และ 085-000-0855
  • สาขาทองหล่อ โทร. 081-940-9974 และ 087-695-8222
  • LINE : @apexmedicalcenter