รู้ไหม? ขี้วีน เพราะฮอร์โมนต่ำ

สืบเนื่องมาจากครั้งที่แล้วที่ได้ทราบแล้วว่า ฮอร์โมนมีควาสำคัญอย่างไร โดย นพ.พลวัฒน์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัย ได้ให้คำอธิบายไว้โดยละเอียดและน่าสนใจ และครั้งนี้ คุณหมอพลวัฒน์ ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงสาเหตุของการเกิดภาวะพร่องฮอร์โมน และวิธีสังเกตว่า คนที่มีฮอร์โมนต่ำลงจะมีบุคลิกภาพเป็นอย่างไร ซึ่งควรนำไปลองสังเกตตัวเราเองและคนรอบข้างว่าเป็นคนที่เข้าข่ายมีฮอร์โมนต่ำหรือไม่

นพ.พลวัฒน์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัย

สาเหตุปัจจัยให้เกิดภาวะพร่องฮอร์โมน

สาเหตุที่ฮอร์โมนต่ำลงหรือเกิดภาวะพร่องฮอร์โมน มาจากการใช้ชีวิตประจำวัน และภาวะโรคความเสื่อมบางอย่าง ซึ่งไลฟ์สไตล์ก็มีตั้งแต่ความเครียดต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความเครียดทางด้านร่างกาย เช่น การทำงานหนักเกินไป มีการพักผ่อนที่ไม่ถูกต้อง การอดอาหาร การข้ามมื้ออาหาร การรับประทานอาหารที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพ เช่น การรับประทานน้ำตาลมากๆ อาหารแช่แข็ง ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียด รวมถึงการรับสารพิษ อนุมูลอิสระต่างๆ โลหะหนัก ก็สามารถขัดขวางการสร้างฮอร์โมนได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะฮอร์โมนเพศเท่านั้น แต่จะรวมถึงฮอร์โมนอื่นๆ ด้วย

อีกสาเหตุคือ เกิดจากการขาดสารอาหาร เพราะในปัจจุบันต้องรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ โดยไม่ได้พิจารณาถึงคุณค่าทางอาหารว่ามีเพียงพอหรือเปล่า ในส่วนตรงนี้หลายคนจึงให้ความสำคัญในเรื่องของอาหารเสริมมากขึ้น เพื่อเข้ามาทดแทน เพราะในแต่ละวันเราไม่สามารถเลือกรับประทานอาหารได้ครบถ้วน

ส่วนในเรื่องของจิตใจก็มีผลต่อการสร้างฮอร์โมนเช่นเดียวกัน เพราะร่างกายจะมีการตอบสนองต่อการสร้างฮอร์โมนที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งฮอร์โมนเพศจะเป็นลำดับสุดท้ายที่ร่างกายจะให้ความสำคัญ เพราะฉะนั้นร่างกายจะผลิตฮอร์โมนตัวอื่นก่อน จึงเป็นสาเหตุของการเกิดฮอร์โมนเพศต่ำได้ง่ายขึ้นในภาวะปัจจุบัน ที่มนุษย์มีความเครียดทางด้านร่างกายและจิตใจเพิ่มขึ้น

สาเหตุต่อมาก็คือ เรื่องของพันธุกรรมและเชื้อชาติ เช่น ผู้ชายเอเชียจะเกิดภาวะฮอร์โมนเพศต่ำได้น้อยกว่าผู้ชายทางฝั่งยุโรป เพราะอาหารของไทยมีส่วนช่วยเพิ่มในเรื่องฮอร์โมนเพศได้ แต่ก็ไม่เฉพาะเจาะจงลงไปเสียทีเดียว เพราะไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันของแต่ละประเทศไม่ต่างกันมาก ยกเว้นประเทศที่มีความเครียดน้อย ไม่เร่งรีบ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ หรือกลุ่มประเทศที่ยังคงรูปแบบไลฟ์สไตล์เดิมเหมือนเมื่อ 10-20 ปีก่อน ประเทศที่มีอากาศดี อาหารดี คนไม่เร่งรีบจนเกินไป มีการพักผ่อนเต็มที่ คนในกลุ่มนี้จึงมีภาวะฮอร์โมนต่ำน้อยกว่า และเมื่อเกิดภาวะฮอร์โมนต่ำ ก็จะส่งผลต่ออารมณ์ทั้งเพศหญิงและชาย โดยอารมณ์จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.อารมณ์ของกลุ่ม Testosterone ของเพศชาย จะควบคุมในเรื่องของความรู้สึกอารมณ์ดี การตัดสินใจที่เฉียบขาด จะเห็นได้ง่ายๆ ในเรื่องของการขับรถ คนที่มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนปกติ จะมีการตัดสินใจที่เฉียบขาดมากกว่า

2.อารมณ์ของกลุ่ม Estrogen และ Progesterone ของเพศหญิง จะเกิดขึ้นในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งเอสโตรเจนจะทำหน้าที่ควบคุมในเรื่องของอารมณ์ เช่น ถ้ามีเอสโตรเจนสูง ก็จะทำให้เรามีอารมณ์ขี้หงุดหงิด ขี้โมโห ขี้วีน ขี้เหวี่ยง และพอช่วงมีประจำเดือนก็จะมีโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้รู้สึกสงบ ซึ่งในร่างกายทั้ง 2 ฮอร์โมนนี้ต้องมีความสมดุลกัน ถ้าไม่สมดุลกันก็จะเกิดอารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่ายในช่วงที่มีประจำเดือน แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่ช่วงมีประจำเดือนจะมีเอสโตรเจนสูงขึ้น ทำให้มีอารมณ์หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนนั่นเอง

วิธีการสังเกตภาวะฮอร์โมนต่ำ ในแต่ละเพศมีความแตกต่างกันอย่างไร?

อย่างที่บอกว่าฮอร์โมนเพศเป็นตัวสุดท้ายที่ร่างกายจะมีการตอบสนอง สังเกตได้ตั้งแต่เริ่มต้นจากฮอร์โมนที่สร้างความตื่นตัวหรือพลังงานให้เราในระหว่างวัน อย่างฮอร์โมนไทรอยด์หรือคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สามารถสังเกตได้ง่ายว่ามีภาวะฮอร์โมนต่ำ เช่น เวลาเรามีภาวะเพลียง่าย ไม่สดชื่นระหว่างวัน หรืออีกอย่างหนึ่ง คือ การตื่นนอน สมมติว่าเราพักผ่อนมา 6-7 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นการพักผ่อนที่ค่อนข้างจะเต็มที่แล้ว แต่ตอนเช้าเรายังอยากนอนต่อ ส่วนหนึ่งก็มาจากนิสัย อีกส่วนหนึ่งก็มาจากภาวะฮอร์โมนที่ผิดปกติ และอีกสาเหตุหนึ่ง ก็คือ การงีบหลับในระหว่างวัน เพราะปกติคนที่นอนหลับ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ก็จะทำให้ระหว่างวันเขาจะไม่รู้สึกง่วง สามารถตื่นตัวได้ตลอดวัน แต่ในคนที่มีภาวะพร่องฮอร์โมน ก็จะเกิดอาการง่วงระหว่างวัน ทำให้ต้องแอบงีบหลับระหว่างวัน หรือต้องหาอะไรบางอย่างทำให้ตื่นตัวเสมอๆ เช่น กาแฟหรือของหวาน เพราะเมื่อรับประทานของหวาน ร่างกายจะบังคับให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลหลั่งออกมา ทำให้รู้สึกตื่นตัว จึงไม่รู้สึกง่วง

ปกติแล้วในช่วงเย็นฮอร์โมนคอร์ติซอลจะลดลงเรื่อยๆ ทำให้รู้สึกง่วง อยากหลับ แต่ปัจจุบันมีหลายคนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบนั้น เนื่องจากตอนกลางคืนเป็นช่วงเวลาที่ต้องพักผ่อน แต่ไม่ได้พักผ่อน ทำให้วงจรของฮอร์โมนหลายตัวเพี้ยนไป สุดท้ายก็ไปกระทบฮอร์โมนเพศ ซึ่งจะเป็นฮอร์โมนท้ายๆ ที่จะสังเกตเห็นว่าต่ำลง ถ้าฮอร์โมนเพศต่ำลง ก็หมายความว่า ฮอร์โมนตัวอื่นๆ ต่ำลงมาก่อนหน้านั้นแล้ว จึงทำให้ดึงการสร้างฮอร์โมนเพศมาสร้างฮอร์โมนตัวอื่นแทน ดังนั้นอย่างที่กล่าวไปว่า ถ้าฮอร์โมนเพศต่ำก็จะมีอารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิด ความรู้สึกทางเพศลดลง เพราะฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เราเกิด Bonding ได้ด้วย คือ ทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากสัมผัสคนรัก อยากใกล้ชิด ถ้าผู้หญิงหรือผู้ชายที่มีฮอร์โมนเพศชายในระดับที่ถูกต้อง ก็จะอารมณ์ดี อยากอยู่กับคนรักตลอดเวลา อยากสัมผัส อยากกอด แต่ก็ต้องแยกกันระหว่างอารมณ์และสภาวะร่างกาย เพราะคนที่มีเทสโทสเตอโรนสมบูรณ์ แต่ถ้าสภาพจิตใจไม่สมบูรณ์ ก็อาจไม่เกิดความรู้สึกเหล่านี้ เพราะฉะนั้นการดูแลในเรื่องของฮอร์โมนจึงจำเป็นต้องดูแลทั้งสภาพร่างกายและจิตใจไปพร้อมกัน

  • ในส่วนของผู้ชาย มีวิธีสังเกตได้ง่ายจากรูปร่าง คือ เจ้าเนื้อมากขึ้น มวลกล้ามเนื้อน้อยลง รูปร่างจะมีความอ้วนท้วมมากขึ้น
  • ในส่วนของผู้หญิง ค่อนข้างจะสังเกตได้ยากกว่า เนื่องจากว่าเมื่อฮอร์โมนไม่สม่ำเสมอ ก็จะทำให้เกิดภาวะในเรื่องของน้ำหนักได้ แต่อย่างที่บอกคือ ถ้าผิดปกติในเรื่องของน้ำหนัก จะมีฮอร์โมนอื่นๆ กระทบมาก่อนหน้านั้นแล้ว ก่อนที่จะมาถึงฮอร์โมนเพศ จึงอาจสังเกตได้ยากว่าเป็นผลมาจากฮอร์โมนเพศที่ต่ำลง

จากที่คุณหมอพลวัฒน์ได้อธิบายเพิ่มเติมมาข้างต้นนั้นก็น่าจะพอสังเกตได้ว่า ตัวเราหรือคนที่อยู่รอบตัวมีปัจจัยความเสี่ยงที่จะมีภาวะฮอร์โมนต่ำหรือไม่ หากรู้ก่อนก็จะได้เข้าใจมากขึ้นและรักษาได้ทัน เพื่อสุขภาพกายและจิตที่ดีของตัวเองและคนรอบข้างด้วยค่ะ