เตรียมพร้อม ยิ้มรับวัยทอง

18872

เมื่อพูดถึงเรื่องวัยทองแล้ว ผู้หญิงทุกคนคงจะกลัวคำนี้มากและไม่อยากให้มาถึงวันของเราเลยนะคะ เพราะนอกจากอายุจะมากขึ้นแล้วร่างกายก็เสื่อมลงด้วย ฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตมาสมัยสาวๆ ก็ยังลดน้อยลงไปอีก ฟังดูแล้วไม่มีอะไรดีเลยจริงๆ แต่อย่าเพิ่งท้อใจไปค่ะ เพราะปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์มีวิธีมากมายที่จะช่วยรักษาอาการต่างๆ ซึ่งเกิดจากการที่ฮอร์โมนลดลงในวัยหมดประจำเดือนค่ะ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับวัยทองให้มากขึ้นกันก่อนนะคะ

วัยทอง คืออะไร?

วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน ก็คือวัยที่ผู้หญิงเราเข้าสู่ภาวะที่รังไข่หยุดทำงานค่ะ ที่ว่าหยุดทำงานนี้ก็คือรังไข่หยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนนั่นเอง โดยเจ้าฮอร์โมนสองตัวนี้จะมีหน้าที่หลักในการสืบพันธุ์ ทำให้ผู้หญิงเรามีประจำเดือนและสามารถตั้งครรภ์ได้ พอขาดฮอร์โมนสองตัวนี้ไป ผู้หญิงเราก็เลยไม่มีประจำเดือนค่ะ ในทางการแพทย์การวินิจฉัยว่าผู้หญิงคนไหนเข้าสู่ภาวะวัยทองก็ต่อเมื่อประจำเดือนไม่มาติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงเราจะเข้าสู่ภาวะวัยทองตอนอายุ 45-55 ปีค่ะ

Smiling daughter with her mother

จะรู้ได้อย่างไรว่า ตนเองเข้าสู่วัยทอง?

การเข้าสู่ภาวะวัยทองไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน กว่าแพทย์จะวินิจฉัยว่าเข้าภาวะวัยทอง ก็ต่อเมื่อประจำเดือนไม่มาติดต่อกันนาน 1 ปี เพราะฉะนั้นถ้าประจำเดือนเริ่มมาๆ หายๆ ทางการแพทย์จะยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นภาวะวัยทองนะคะ โดยการเข้าสู่ภาวะวัยทองจะค่อยเป็นค่อยไป บางคนอาจเริ่มมีอาการของวัยทองได้ตั้งแต่ 5 ปีก่อนจะมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเลยค่ะ อาการของวัยทองที่สังเกตได้ก็จะมีหลากหลาย และแต่ละคนก็จะมีอาการที่ไม่เหมือนกัน เช่น ช่องคลอดแห้ง ร้อนวูบวาบ หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ผิวหนังแห้งและบาง น้ำหนักขึ้น ซึมเศร้า ความต้องการทางเพศลดลง ผมร่วง ปัสสาวะเล็ด เป็นต้นค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าใครเริ่มมีอาการดังที่กล่าวมา ประกอบกับประจำเดือนเริ่มมาไม่สม่ำเสมอ ก็เป็นสัญญาณบอกได้เลยค่ะว่าถึงเวลาที่ต้องเตรียมตัวรับมือกับวัยทองแล้ว

วัยทองมีข้อเสียอะไรอีกบ้าง?

ผู้หญิงบางคนแม้ว่าจะเข้าสู่วัยทองแล้ว แต่ก็แทบจะไม่มีอาการที่กล่าวมาข้างต้นเลยค่ะ ช่างโชคดีจริงๆ อย่างไรก็ดีการที่รังไข่ของเราหยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนนั้น ทำให้ผู้หญิงในวัยทองมีความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้นค่ะ นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่แพทย์แนะนำให้ผู้หญิงในวัยทองตรวจมวลกระดูก และตรวจเลือดเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพราะเจ้าสองโรคหลักนี้ไม่มีอาการเตือนมาให้เรารู้ก่อนนะคะ เราจึงต้องคอยระมัดระวังและหาทางป้องกันตัวเองไว้ก่อนค่ะ

วิธีรับมือกับวัยทอง

ในเมื่อเราหลีกเลี่ยงมันไม่ได้ เราก็ต้องหาวิธีรับมือกับมัน หมอก็จะขอแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวง่ายๆ สำหรับผู้หญิงวัยทอง ดังนี้

  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานอาหารหลากหลายชนิด ผักผลไม้หลากหลายสี และที่สำคัญเน้นอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูงเพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ป้องกันภาวะกระดูกพรุน และหลีกเลี่ยงน้ำตาลและไขมันที่ไม่ดี (เช่น ไขมันทรานส์ในขนมเค้ก คุกกี้ เป็นต้น) เพื่อช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดนะคะ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่หนักจนเกินไปนะคะ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ออกกำลังกาย 4-5 วันต่อสัปดาห์ โดยเลือกทำกิจกรรมที่มีระดับความหนักน้อยถึงปานกลาง เช่น เดินเร็ว การวิ่งเหยาะๆ เต้นรำ รำมวยจีน ไทเก๊ก ชี่กง โยคะ เป็นต้นนะคะ ถ้าจะไปแข่งไตรกีฬา เล่นกิจกรรมผาดโผนตื่นเต้นหวาดเสียวนี่หมอไม่แนะนำนะคะ เพราะมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้มาก และการซ่อมแซมฟื้นฟูร่างกายของผู้หญิงวัยทองเราก็ดีสู้ตอนสาวๆ ไม่ได้ แถมถ้าเกิดกระดูกหักขึ้นมาอีกนี่เรื่องใหญ่เลย ต้องนอนพักฟื้นกันไปเป็นเดือนๆ เพราะฉะนั้นเลือกกิจกรรมเบาๆ ให้ได้ขยับร่างกายและพักผ่อนจิตใจไปในตัวดีกว่าค่ะ
  • ฝึกคิดในทางบวกเสมอ พอเข้าวัยทองแล้ว เนื่องจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปจะทำให้ผู้หญิงเราหงุดหงิดได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามทำจิตใจให้สดใสเบิกบานค่ะ พยายามทำจิตใจเราให้คิดบวกอยู่เสมอค่ะ เช่น จริงๆ วัยทองก็ดีเหมือนกันนะ จะได้ไม่ต้องมีประจำเดือน ไม่ต้องปวดท้องทุกๆ เดือน ตัวบวมทุกๆ เดือน แถมยังทำให้เราใส่ใจสุขภาพของตัวเองมากขึ้นด้วย ทุกอย่างมันก็มีข้อดีในตัวของมันค่ะ เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะมองข้อเสีย ลองเปลี่ยนวิธีคิดดูจะพบว่าความสุขหาได้ทั่วไปรอบตัวเราเลยนะคะ

health.haijai.com/women/

  • ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยที่สุด หมอแนะนำให้ตรวจร่างกายปีละ 1 ครั้งค่ะ โดยแนะนำให้ตรวจเช็คความดันโลหิต ค่าไขมันและน้ำตาลในเลือด ค่าการทำงานของตับและไต ตรวจหามะเร็งปากมดลูก (Pap smear) ตรวจหามะเร็งเต้านม (Mammography) และความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone mineral density) เป็นอย่างน้อยนะคะ

วิธีรักษาในปัจจุบัน

ทางการแพทย์แผนปัจจุบันนี้ ถ้าหากผู้หญิงคนไหนมีอาการของวัยทองมาก หรือตรวจพบความผิดปกติ เช่น กระดูกพรุน แพทย์ก็จะพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนกับคนไข้ค่ะ โดยก่อนอื่นก็จะต้องอธิบายถึงข้อดีข้อเสียให้คนไข้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อนตัดสินใจว่าจะใช้ฮอร์โมนดีไหม ซึ่งนอกจากฮอร์โมนแบบรับประทานแล้ว ก็ยังมีฮอร์โมนชนิดครีมที่ใช้ทาด้วยนะคะ แต่ละอย่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปค่ะ ดังนั้นถ้าสาววัยทองคนไหนสนใจการใช้ฮอร์โมน ก็ไม่ต้องเกรงใจที่จะถามคุณหมอให้ละเอียดเลยนะคะ เพราะแม้ว่าการใช้ฮอร์โมนนั้นจะช่วยให้อาการของวัยทองดีขึ้น มวลกระดูกหนาแน่นขึ้น อารมณ์ดีขึ้น แต่ก็อาจทำให้เกิดเลือดออกกระปริบกระปรอยทางช่องคลอด เจ็บเต้านม ปวดศีรษะได้ค่ะ หรือถ้าในกรณีที่ใช้นานเกินไป หรือใช้ผิดวิธีก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ เพราะฉะนั้นทางที่ดีควรปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์ และตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ ห้ามซื้อฮอร์โมนรับประทานเองเด็ดขาดนะคะ

ถ้ามีอาการ แต่ไม่อยากใช้ฮอร์โมนต้องทำยังไง?

แนวทางการรักษาภาวะวัยทองไม่ได้มีเพียงแค่การใช้ฮอร์โมนค่ะ แต่ยังมีการใช้ยาอื่นๆ สมุนไพรต่างๆ วิตามิน และอาการเสริมที่ช่วยปรับระดับฮอร์โมนและบรรเทาอาการของวัยทอง ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และลดความเสี่ยงของภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วยค่ะ

แล้วมีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ที่ผู้หญิงวัยทองทำได้เพิ่มเติม เพื่อช่วยในการฟื้นฟูร่างกายไหมคะ?

Photoxpress_3839933-1024x828

นวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพให้ผู้หญิงวัยทองได้ดี ก็จะมีการทำ Ozone Therapy ซึ่งเป็นการเติมปริมาณออกซิเจนในเลือด ช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในเซลล์ ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้น และยังพบว่าช่วยลดไขมันในเลือดได้ด้วยค่ะ นอกจากนั้นก็มี Endovascular Laser Therapy

ซึ่งใช้ประโยชน์จากแสงเลเซอร์ นอกจากที่จะใช้ยิงหน้าใส ยกกระชับแล้ว อันนี้เราเอามาเข้าเส้นเลือดกันโดยตรงเลยค่ะ แต่ไม่ต้องกลัวนะคะ มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะเราจะใช้สายไฟเบอร์ออพติกเล็กๆ เป็นตัวนำในการส่งแสงเลเซอร์เข้าไปฟื้นฟูร่างกายในระดับเซลล์ค่ะ โดยเครื่องมือนี้จะมีแสงเลเซอร์หลายๆ สีต่างกันไปเพื่อคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งจะช่วยลดไขมัน กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด และดีท็อกซ์ได้ด้วยค่ะ อื่นๆ ก็จะมี Infusion หรือการฉีดสารอาหารให้กับร่างกายเพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูได้เร็วขึ้น มีพลังงานมากขึ้นด้วยค่ะ

ทราบกันอย่างนี้แล้วก็ไม่ต้องกลัวภาวะวัยทองกันแล้วนะคะ เพราะไม่ว่าร่างกายจะมาแนวไหน เราก็มีวิธีรับมือกับมันได้ค่ะ.

พญ. ณัฐธิดา ศรีบัวทอง
แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัย
Apex Medical Center